ปวดหัวไมเกรนทำไมถึงมีอาการปวดฟันร่วมด้วย

       ทุกคนเคยปวดหัว และการปวดหัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ถ้าปวดหัวทั่วๆ ไป โดยเฉพาะเกิดจากอาการข้างเคียงของไข้หวัด รับประทานยา นอนหลับพักผ่อนก็มักจะหายได้ แต่สำหรับการปวดหัวไมเกรน เป็นอาการปวดหัวแบบจี๊ดๆ ปวดหัวข้างเดียวแบบทรมาน มีสาเหตุที่แตกต่างและหายยากกว่า อีกทั้งยังน่าสงสัยว่า ปวดหัวไมเกรน ทำไมถึงมีอาการปวดฟันร่วมด้วย ทั้งที่ไม่น่าจะเกี่ยวกัน

ปวดหัวไมเกรนเป็นอย่างไร

       ปวดหัวไมเกรนมีลักษณะเฉพาะคือเป็นการปวดศีรษะแบบปวดตุบๆ ปวดข้างเดียวเป็นส่วนมาก แต่ที่ปวดสองข้างเลยก็มี แต่ที่คนทั่วไปคุ้นกันพอพูดถึงไมเกรนก็คือ ปวดหัวข้างเดียว อาการปวดจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น และอาจมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ดังที่จะกล่าวถึงในบทความนี้คือ มีอาการปวดฟันร่วมด้วย

ปวดหัวไมเกรน เกิดจากอะไรได้บ้าง

1. ปวดไมเกรนเนื่องจากมีความเครียด

2. ปวดไมเกรนเพราะสืบเนื่องจากเป็นไซนัสอักเสบอยู่ก่อน ถ้าเป็นเพราะเหตุนี้มักมีอาการปวดใบหน้าด้วย หรือบางคนแค่อากาศเปลี่ยนแบบกระทันหันก็ปวดไมเกรนได้

3. ปวดไมเกรนเนื่องจากกล้ามเนื้อทำงานหนักจนปวดหัว ยิ่งถ้าเผชิญกับอากาศร้อนไปหรือหนาวไปก็จะปวดยิ่งขึ้น

4. ปวดหัวไมเกรนเนื่องมาจากมีปัญหาด้านสายตา หรือบางทีเป็นเพราะใช้สายตาเพ่งอยู่นานๆ

5. ปวดไมเกรนจากอาการผิดปกติของสมอง ถ้าเป็นเพราะเหตุนี้จะมีอาการหนักข้างเคียงตามมา

6. ปวดไมเกรนจากการปวดฟันแล้วลามมาปวดหัว ส่วนเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จะได้กล่าวในหัวข้อต่อๆ ไป

ทำไมปวดหัวไมเกรนทำให้มีอาการปวดฟันร่วมด้วย

        หลายคนมีอาการปวดหัวไมเกรนควบคู่กับอาการปวดฟัน บางคนปวดหัวก่อนแล้วจึงปวดฟันตามมา แต่บางคนเริ่มต้นจากปวดฟันแล้วลามไปปวดหัว การปวดทั้งสองส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร

        เพราะอาการปวดที่มักมาควบคู่กันเช่นนี้ ทำให้บางคนเข้าใจว่าตัวเองเป็นโรคไมเกรน เพราะปวดหัวทรมาน ส่วนอาการทางฟันตามมาภายหลัง แต่แท้ที่จริงแล้ว สองอาการที่มาควบคู่กันนี้ มักมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาเรื่องฟัน

สาเหตุที่อาการทางฟันทำให้ปวดหัวไมเกรน

        1. อาการปวดบริเวณแนวกราม ขากรรไกร เมื่อปวดแล้วจะร้าวไปบริเวณหัว กระบอกตา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากปัญหาการบดเคี้ยว ที่มีผลกับข้อต่อขากรรไกร เมื่อมีปัญหาก็ส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบดเคี้ยวอาหาร เช่น กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อบดเคี้ยว กล้ามเนื้อช่วงไหล่ ปัญหาจากกล้ามเนื้อก็ลามไล่ขึ้นไปจนบีบศีรษะทำให้เกิดปวดหัวขึ้นมา

       2. ปัญหาการเคี้ยวอาหารที่ขาดสมดุล ซึ่งอาจเกิดจากการสบของฟันที่ผิดปกติ มักมีปัญหาเช่นนี้ในกลุ่มคนที่มีฟันเก ฟันล้ม หรือถอนฟันแล้วไม่ได้ใส่ฟันปลอมทดแทน การสบของฟันจะเสียสมดุลไป หรืออีกทีก็เกิดจากความถนัดของคนๆ นั้นที่เคี้ยวอาหารด้วยฟันข้างเดียวตลอดเวลา เมื่อทำงานหนักข้างเดียว กล้ามเนื้อที่ทำงานก็ไม่สมดุล เครียดข้างเดียวจึงดึงรั้งไปถึงศีรษะ ไม่เจ็บฟันแต่ไปปวดจี๊ดที่หัวแทน

การแก้ไขปวดไมเกรน

สาเหตุหลักๆ เกิดจากความเครียด ไม่ว่าจะไมเกรนโดยตรง หรือสืบเนื่องจากความเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร ฯลฯ ก็ตาม การแก้ไขเบื้องต้นด้วยตัวเอง จึงต้องเพ่งไปที่บรรเทาอาการก่อน

1. พักสายตา คลายความเครียด ยิ่งถ้าปวดถึงกระบอกตา ยิ่งต้องทำข้อนี้ก่อน อาจแค่หลับตา หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบ รวมถึงนวดเพื่อผ่อนคลายตามจุดขมับ ศีรษะบ้างก็ได้

2. บรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาประเภทแก้ไขก่อน ตั้งแต่ยาแก้ปวดที่เป็นยาสามัญประจำบ้านอย่าง พาราเซ็ตตามอล ส่วนยาอื่นๆ ที่คนปวดไมเกรนประจำน่าจะมีติดเอาไว้เช่น ยา  CAFERGOT ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการปวดหัว ประสาท สมอง และหลอดเลือดโดยตรง อาจกินควบคู่กับยาNIDOL นอกจากนี้ก็มียา Avamigraine ที่มีสรรพคุณเหมือนกับ CAFERGOT

3. บรรเทาความเครียดด้วยการทำให้ตัวเองมีความผ่อนคลายทั้งกายและใจ โดยการฝีกสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออก การฝึกโยคะผ่อนคลายกล้ามเนื้อและควบคุมการหายใจให้ผ่อนคลาย การนวดผ่อนคลาย เป็นต้น

หากยังไม่หาย จำเป็นต้องเข้าพบทันตแพทย์หรือแพทย์เพื่อตรวจรายละเอียดว่า การปวดไมเกรนนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ อาจเป็นปัญหาที่มากกว่าการปวดหัว

การรักษาการปวดไมเกรนที่มีการปวดฟันร่วมด้วย

        1. หากทันตแพทย์ตรวจพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการสบฟันมีปัญหา ทันตแพทย์จะดำเนินการจัดข้อต่อขากรรไกรให้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมตามที่ควร  บางทีอาจต้องมีการจัดฟันเพื่อให้ฟันสบกันอย่างสมดุลต่อไป

2. หากเกิดอาการปวดหัวจากปัญหาฟันเก ฟันล้ม เนื่องจากมีการถอนฟัน อาจต้องมีการจัดฟันครั้งใหญ่

ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น อาจต้องมีการผ่าตัดรักษาปัญหาขากรรไกรทรุดตัว จะเห็นว่า การปวดไมเกรนที่เกิดร่วมกับการปวดฟันนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

        อาการปวดหัวไมเกรน มีต้นเหตุหลายประการ อาจไม่ใช่การปวดหัว แต่เป็นการปวดฟัน ปัญหาทันตกรรม ปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อเครียด จนไปถึงอาการมะเร็งหรือโรคร้ายแรงในสมอง